GED Social : USA Election หรือ การเลือกตั้งสหรัฐ ฯ

สวัสดีครับทุกคน ยินดีต้อนรับเข้าสู่ “Social วันละนิด พิชิตข้อสอบ GED” โดยเรามาอยู่กันในบทความซีรีส์แรกในการเรียน GED วิชา Social Studies  แอบใบ้ให้ว่าสิ่งที่วันนี้ที่จะมาคุยกำลังเป็นกระแสในสังคมไทยเลย เพราะเราเพิ่งจะได้นายกคนใหม่ คงพอกันเดาได้แล้ว ว่าเรื่องที่อยากจะคุยนั่นคือ  “การเลือกตั้ง(แต่เป็นของ)สหรัฐ ฯ / USA Election” นะครับ  ก่อนอื่นน้อง ๆ เคยสงสัยไหมครับ ว่าประธานาธิบดีของอเมริกาขึ้นสู่ตำแหน่งได้อย่างไร แล้วเผื่อน้อง ๆ บางคนอยากสมัครชิงตำแหน่งนี้จะสามารถทำได้ไหม

คำตอบ คือ อันดับแรกต้องมาดูว่าน้อง ๆ มีคุณสมบัติตรงกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาหรือเปล่าครับ โดยผู้ที่จะสามารถลงสมัครเพื่อชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี จะต้องเป็นผู้ที่ถือสัญชาติอเมริกาโดยกำเนิด  มีอายุขั้นต่ำ 35 ปี และต้องอาศัยอยู่ในอเมริกามาแล้ว 14 ปี

ถ้าน้อง ๆ มีคุณสมบัติตรงกับเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ก็จะต้องสมัครเข้าสู่พรรคการเมืองที่มีแนวคิดตรงกับที่ตนต้องการและไปหาเสียงเพื่อสู้กับคู่แข่งคนอื่นภายในพรรคที่ต้องการเป็นตัวแทนเหมือนน้อง โดยหลังจากหาเสียงภายในพรรคเสร็จ จะมีการจัดการเลืองตั้งขั้นต้นที่เรียกว่า PRIMARY ซึ่งสมาชิกในพรรค จะออกมาลงคะแนนโหวตเลือกผู้แทนของตนในแต่ละรัฐให้เข้าไปโหวติในการเลือกตั้งลำดับถัดไป

หลังจากจบการเลือกตั้งขั้นต้น จะมีการจัดงานประชุมใหญ่ หรือ National Convention โดยผู้แทนที่ได้รับเลือกจากแต่ละรัฐจะต้องมาประชุมกันเพื่อเสนอชื่อและเลือกผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรค (Presidential Candidate) ให้ไปสู้กับพรรคการเมืองคู่แข่งในการเลือกตั้งทั่วไป และในขั้นตอนนี้เองผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะทำการเลือก “เพื่อนคนสำคัญ” ที่จะมาช่วยตนหาเสียง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Running Mate และเขาคนนี้ก็ถือเป็นผู้ท้าชิงที่จะกลายเป็นรองประธานาธิบดีในอนาคตหากพรรคชนะการเลือกตั้ง

ถ้าสมมุติ น้อง ๆ เกิดจับพลัดจับผลูได้รับการเสนอชื่อเข้าเป็นตัวแทนผู้ท้าชิงประธานาธิบดีน้อง ๆ ก็จะต้องอออกหาเสียง ทำCampaign ต่าง ๆ เพื่อโปรโมทนโยบายพรรคตัวเอง และหลังจากการรณรงค์หาเสียงอันหฤโหดจบลง จะเกิดการเลือกตั้งทั่วไป (General Election) ในวันอังคารแรกของเดือน พ.ย. ของปีที่มีการเลือกตั้ง  โดยประชาชนผู้มีสัญชาติอเมริกาและอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์จะออกมาเลือก “คณะผู้เลือกตั้ง” ที่เรียกว่า Electoral College  ตามภูมิลำเนาของพวกเขา เพื่อไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนเลือกประธานาธิบดีในการโหวตครั้งสุดท้าย น้อง ๆ จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นี้ประชาชนไม่ได้เป็นคนเลือก ปธน. โดยตรงแต่จะเป็นการเลือกผู้แทนให้ไปใช้สิทธิแทนพวกเขา

และก็มาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral college) โดยคะแนนเสียงของผู้เลือกตั้ง Electors ทั้งหมด มีจำนวน 538 เสียง อย่างไรก็ตามรัฐแต่ละแห่งจะมีจำนวนผู้เลือกตั้งไม่เท่ากันเนื่องจากจำนวนประชากรของรัฐแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น แคลิฟอร์เนียมีจำนวนประชากรสูงที่สุดจึงมีคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด 55 คน ในขณะที่ฮาวายมีประชากรน้อยกว่ามากเลยมีผู้เลือกตั้งแค่ 3 คน(จำนวนขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ)  โดยน้องจะสามารถชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีก็ต่อเมื่อได้รับเสียงโหวตจากคณะผู้เลือกตั้ง 270 เสียงขึ้นไป (เกินกึ่งหนึ่ง) และจะต้องเข้าทำพิธีปฏิญาณสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Inauguration Day)ในวันที่ 20 มกราคมของปีต่อมา

น้อง ๆ สามารถดูรูปภาพสรุปข้างล่างได้เลยเพื่อให้ง่ายกับการเข้าใจ (ขอบคุณภาพจาก https://www.usa.gov/election )

พี่หวังว่าข้อมูลนี้จะทำให้น้องเข้าใจการเลือกตั้งของสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น  เผื่ออนาคตจะส่งลูกหลานตัวเองลงสมัครชิงเก้าอี้ ปธน. หรืออย่างน้อยจะได้ไม่เข้าใจผิดและเผลอไปพูดกับคนอื่นว่า ส.ส. (Representative) และ ส.ว. (Senate) ของอเมริกาทำหน้าที่เลือกผู้นำ เหมือนกับประเทศตัวเอง ครั้งนี้เราเกริ่นกันเลือกประธานาธิบดีไปแล้ว เดี๋ยวครั้งต่อไปเรามาดูกันต่อดีกว่า ว่าแล้ว Representative กับ Senate ของอเมริกาเป็นใคร มาจากไหน ทำหน้าที่อะไร ถ้าไม่อยากพลาดบทความดี ๆ แบบนี้ก็ Stay Tune อย่าเปลี่ยนช่องไปไหนนะครับ เพราะเรื่องนี้สำคัญอย่างมากในการติว GED Social Studies เพื่อให้เราสามารถสอบผ่านในรอบเดียวได้เลย แล้วเจอกันครับ

ติดต่อสอบถามคอร์สการเรียน GED ได้ที่เบอร์ 02-253-2533 หรือ 095-726-2666
หรือ LINE: @theplanner

เพิ่มเพื่อน

Leave a Reply