สัตวแพทย์และสัตวศาสตร์แตกต่างกันอย่างไร? ใครอยากเรียนต่อ 2 คณะนี้ห้ามจำสับสน

น้อง ๆ คนไหนเป็นคนรักสัตว์ ชื่นชอบการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ และมีแผนที่จะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในด้านนี้ ต้องรีบอ่านบล็อกนี้เลย รู้กันหรือไม่? คณะสัตวแพทยศาสตร์และสาขาสัตวศาสตร์ “ไม่เหมือนกัน” และทำหน้าที่ในอาชีพแตกต่างกันอีกด้วยนะ สงสัยกันแล้วใช่ไหมว่า 2 คณะนี้หรือ 2 อาชีพนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร พี่ The Planner Education สถาบันติวเข้าคณะอินเตอร์ จะมาเล่าให้ฟังกันค่ะ

ทำงานเกี่ยวกับ “สัตว์” เหมือนกัน แต่เป้าหมายต่างกัน
อย่างที่เราทราบกันดีว่า เมื่อสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราป่วยหรือไม่สบาย สิ่งแรกที่เราคำนึงถึงนั่นคือ “สัตวแพทย์” ที่อยู่ประจำคลินิกรักษาสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งทำหน้าที่โดยตรงของสัตวแพทย์ หรือ Veterinarian คือ

  • ดูแลเกี่ยวข้องกับสุขภาพของสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ทั่วไป
  • การวินิจฉัยโรค การป้องกัน การรักษาโรคจากอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ทั่วไป
  • บำบัดรักษาโรคสัตว์โดยการใช้ยา เป็นผู้ผ่าตัด หรือใช้รังสีในการรักษา
  • ป้องกันโรคระบาดจากสัตว์ไม่ให้แพร่กระจายมาสู่ทั้งสัตว์และคน

ดังนั้น กล่าวได้ง่าย ๆ เลยคือ ผู้ที่เรียนจบจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ และประกอบอาชีพด้านสัตวแพทย์ จะทำหน้าที่ “ดูแลรักษาสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงและวินิจฉัยโรคสัตว์ทั่วไป” ที่ไม่ใช่เพื่อการปศุสัตว์ หรือการใช้เพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ เป็นต้น

แต่ในขณะเดียวกัน สำหรับผู้ที่เรียนจบด้านสัตวศาสตร์ หรือมีอาชีพด้านสัตวศาสตร์/สัตวบาล พี่เชื่อว่าน้อง ๆ คงพอนึกภาพออกแล้วว่าคนเรียนจบด้านนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์ทางอาชีพเกี่ยวกับรักษาสัตว์เลี้ยงแน่นอน เพราะอาชีพ “นักสัตวศาสตร์” หรือ Animal Scientist มีหน้าที่

  • ควบคุม ดูแล และปฏิบัติงานกระบวนการขยายพันธุ์สัตว์
  • การสุขาภิบาลสัตว์
  • การดูแลสิ่งแวดล้อมของสัตว์
  • การจัดการด้านการค้าสัตว์ และผลผลิตต่าง ๆ ที่ได้มาจากสัตว์

หรือกล่าวง่าย ๆ เช่นเดียวกัน คือ ผู้ที่เรียนจบด้านสัตวศาสตร์/สัตวบาล และมีอาชีพด้านสัตวศาสตร์ จะทำหน้าที่ “ดูแลด้านการผลิตสัตว์ โดยเน้นสัตว์เศรษฐกิจที่ใช้ในการบริโภค” เช่น หมู ไก่ ปลา วัว ปศุสัตว์หรือสัตว์ในฟาร์มเพาะเลี้ยง เป็นต้น

คณะสัตวแพทย์ VS สาขาสัตวศาสตร์ เรียนไม่เหมือนกัน
คณะสัตวแพทยศาสตร์ หรือ Faculty of Veterinary Medicine จะได้รับคุณวุฒิ ปริญญาทางสัตวแพทยศาสตร์ (สพ.บ.) 6 ปี และได้ใบประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ที่ผ่านการรับรองโดยสัตวแพทยสภา โดยเนื้อหาการเรียนจะเน้นการเรียนเกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพของสัตว์ การวินิจฉัย การป้องกัน การรักษาโรคและการอภิบาลสัตว์ป่วย รวมไปถึงการเรียนด้านการใช้ยาและวัคซีนสำหรับสัตว์ เป็นต้น

ตลอดระยะเวลา 6 ปีในการเรียนคณะสัตวแพทยศาสตร์ ช่วงชั้นปีที่ 1 – 3 จะเรียนด้าน Pre-clinic ซึ่งเป็นการเรียนรู้ถึงการดูแลสัตว์หลายชนิด สุนัข แมว ม้า วัว ปลา ไก่ หมู เป็นต้น และเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 4 – 6 จะเรียนด้าน Clinic ที่จะเจาะลึกลงไปเกี่ยวกับการรักษาสัตว์มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างวิชาเรียนในคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ เช่น จุลกายวิภาควิทยา, หลักสัตวบาล, หลักสรีรวิทยา, อายุรศาสตร์ตามระบบอวัยวะ, เทคนิคการวินิจฉัยและการรักษาโรคสัตว์ หลักการศัลยศาสตร์และวิสัญญี

หลักสูตรสัตวศาสตร์/สัตวบาล ส่วนใหญ่จะเป็นสาขาวิชาที่อยู่ในคณะด้านการเกษตร เช่น สาขาสัตวศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะเน้นเรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและขยายพันธุ์สัตว์ การจัดการด้านอาหารสัตว์ การวิจัยสัตว์ การใช้ยาในฟาร์ม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นต้น โดยจะเน้นไปทางด้านการปศุสัตว์และสัตว์เศรษฐกิจ

สาขาสัตวศาสตร์/สัตวบาล จบมาแล้วจะได้ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (สัตวศาสตร์) หรือ Bachelor of Science (Animal Science) ซึ่งจะไม่ใช่หมอสัตว์หรือแพทย์ที่คอยรักษาสัตว์อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ แต่จะเน้นไปในเชิงนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์มากกว่า โดยหลักสูตรนี้ จะใช้เวลาในการเรียนทั้งหมด 4 ปีด้วยกัน ตัวอย่างวิชาที่น้อง ๆ ต้องเจอ เช่น พันธุศาสตร์, การผลิตสัตว์ปีก, การปฏิบัติงานในฟาร์ม, การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ยาและการใช้ยาในสัตว์

คณะสัตวแพทยศาสตร์และสาขาสัตวศาสตร์ มีเกณฑ์การรับสมัครอย่างไร?
ปัจจุบัน คณะสัตวศาสตร์ หลักสูตรภาษาไทยในประเทศไทย อิงเกณฑ์ปี 2566 มีหลายมหาวิทยาลัยที่ได้ประกาศ Requirement ออกมาแล้ว ยกตัวอย่าง เช่น เกณฑ์การคัดเลือก TCAS66  คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ที่เปิดรับน้อง ๆ ม.6 เข้าเป็นว่าที่นักศึกษาสัตวแพทยศาสตร์ถึง 3 รอบด้วยกัน ได้แก่ รอบ Portfolio, รอบ โควตา และรอบ Admission โดยจะเริ่มต้นให้ยื่นสมัครกันตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2565 นี้ – 6 ม.ค. 2566

ซึ่งในการยื่นสมัครคณะสัตว์แพทยศาสตร์ในทุก ๆ มหาวิทยาลัย นอกจากเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.50 ที่น้อง ๆ จะต้องเตรียมกันแล้ว ยังต้องมีผลคะแนนภาษาอังกฤษ IELTS เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5.0 และ TOEFL เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 64 รวมถึงผลสอบอื่น ๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเกณฑ์โดยละเอียดของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ

ดังนั้นก่อนยื่นสมัครสัตวแพทยศาสตร์ น้อง ๆ ต้องเตรียมคะแนนเหล่านี้ให้พร้อม ยิ่งคะแนนสูง โอกาสติดสัตวแพทย์ก็ยิ่งสูงตามนะคะ

Tips: รู้หรือไม่? คณะสัตวแพทยศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ ในประเทศไทยมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือ วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งปี 2566 นี้มีการประกาศรับจำนวน 3 รอบ TCAS และ 1 รอบรับตรงนานานาชาติ ที่สำคัญ น้อง ๆ ที่เรียนจบหลักสูตร GED ก็สามารถยื่นเข้าคณะสัตวแพทยศาสตร์ อินเตอร์นี้ได้ด้วยนะ

และสำหรับสาขาสัตวศาสตร์/สัตวบาล ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหลักสูตรนานาชาติ แต่มีหลักสูตรภาษาไทย ในประเทศไทยที่ได้ออกเกณฑ์รับสมัคร ปี 2566 ออกมาบ้างแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร กำหนดเกรดเฉลี่ยรวมไม่ต่ำกว่า 2.00 และคะแนน GAT-PAT อยู่ที่อย่างละ 30%

น้อง ๆ คงเข้าใจกันแล้วใช่ไหมคะว่าคณะสัตวแพทยศาสตร์และสาขาสัตวศาสตร์นั้นมีข้อแตกต่างกันอย่างไร และต้องเตรียมตัวเตรียมคะแนนเท่าไหร่ในการยื่นสมัครเรียน โดยเฉพาะคณะสัตวแพทยศาสตร์ ที่มีเกณฑ์การรับสมัครที่สูงกว่าสาขาสัตวศาสตร์เป็นพิเศษ ดังนั้นน้องคนไหนอยากเข้าคณะนี้ ควรเตรียมเกรดหรือคะแนนสอบ GED และคะแนนสอบ IELTS – TOEFL ของตัวเองให้ดีไว้ก่อนจะดีที่สุดค่ะ

สนใจติว A-LEVEL | IGCSE | GED | SAT/GSAT | ACT | IELTS | IB | AP | BMAT | TOEFL-MUIC/MUIDS | CU-TEP | CU-AAT | CU-ARTS | TU-GET | Academic Writing
เพื่อคว้าคะแนนและมหาวิทยาลัยในฝันหรือยัง? ดูรายละเอียดคอร์สเรียนที่สนใจได้เลย!

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 095-726-2666
หรือ LINE: @theplanner

เพิ่มเพื่อน

Leave a Reply