GED RLA : ส่วนขยายในภาษาอังกฤษ (Modifier) มีกี่แบบ?

วันนี้เราจะมาติว GED RLA สั้นๆกันต่อนะครับในประเด็นเรื่องการใช้ Comma ซึ่งจะมีกฎการใช้ที่เหลืออีก 2 ข้อ โดยคราวนี้จะเป็นการเชื่อมโยงความรู้เข้ากับเรื่องการใช้ส่วนขยายในภาษาอังกฤษ (Modifier) ในการเตรียมตัวสอบหรือเรียน GED RLA นั้น เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญมากๆเลยทีเดียว

ก่อนไปดูกฎการใช้คอมมา เรามาทวนกันก่อนนะครับว่า ในวิชา GED RLA ส่วนขยายในภาษาอังกฤษแบ่งออกเป็นหลายประเภท หน้าที่ของมันก็ตามชื่อเลยครับ คือ ทำหน้าที่เพิ่มเติมหรือเสริมคำบรรยายและรายละเอียดให้ประโยค โดยส่วนขยายพื้นฐานที่น้องน่าจะรู้จักหรือพอคุ้นหู ได้แก่ คำคุณศัพท์ทำหน้าที่ขยายนาม (Adjective) เช่น gorgeous, economical, useful และ sensitive คำวิเศษณ์ทำหน้าที่ขยายกริยาหรือขยายคำคุณศัพท์ก็ได้ (Adverb) เช่น effectively, usually, และ extremely

นอกจากสองตัวนี้แล้วยังมีส่วนขยายประเภทอื่น ๆ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้แก่ บุพบทวลี หรือ กลุ่มคำที่ขึ้นต้นด้วยคำบุพบท Prepositional Phrase, ประโยคย่อยที่ขึ้นต้นด้วย who/which/that ทำหน้าที่ขยายนามที่อยู่ด้านหน้า (Adjective Clause) , การนำคำกริยามาเติม -ing หรือใช้รูปกริยาช่องที่ 3 เพื่อทำหน้าที่เป็นเหมือนคำคุณศัพท์ขยายคำนาม (Participle) และ การใช้กลุ่มคำนามมาขยายคำนาม (Appositive)

โดยกฎข้อที่ 3 ของการใช้ Comma คือเราจะใส่คอมมาไว้ข้างหลังส่วนขยายกรณีที่ส่วนขยายวางอยู่ด้านหน้าสุดของประโยค (Introductory Elements) ไม่ว่าเราจะติว GED RLA เพื่อสอบ หรือเรียนภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาตัวเอง เรื่องนี้จะสำคัญมากเพราะมันจะช่วยให้ประโยคของเราถูกตัอง (หลักการดูให้สังเกตจากประธานครับ ส่วนขยายจะวางไว้ก่อนหน้าประธาน ดังนั้นหากอยากจะเติมคอมมาหลังส่วนขยายก็ให้เติมคอมมาไว้ด้านหน้าประธานครับ)

ตัวอย่าง

  1. Furiously, Tom punched his best friend.

ในประโยคนี้มีส่วนขยาย Adverb – furiously ซึ่งแปลว่า “อย่างโมโห” มาขยายคำกริยา punch เพื่อบอกว่า Tom ไม่ได้ต่อยเพื่อนสนิทแบบธรรมดา แต่ต่อยเพื่อนไป “อย่างโมโห” เพื่อทำให้รายละเอียดของประโยคชัดเจนขึ้น และจากกฎด้านบนเราจึงนำ comma มาใส่คั่นไว้หลัง Adverb เพื่อแยกส่วนขยายออกจากประโยคหลัก

  1. In the morning, Tom punched his best friend.

ประโยคนี้มีส่วนขยายที่เรียกว่าบุพบทวลี Prepositional Phrase หรือ กลุ่มคำที่ขึ้นต้นด้วยคำบุพบทซึ่งหลังคำบุพบทจะตามด้วยคำนามเสมอ ทำหน้าที่ขยายประโยคเพื่อบอกเวลาว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อไร (In the morning – ในตอนเช้า) โดยประโยคนี้บุพบทวลีทำหน้าที่ขยายคำกริยาว่าเหตุการณ์ที่ทอมต่อยเพื่อนของเขาเกิดขึ้นในตอนเช้า ดังนั้นเราจึงต้องใส่คอมมาไว้ด้านหลังส่วนขยายบุพบทวลี

  1. Walking along the street, Tom punched his best friend.

ส่วนขยายนี้เราเรียกว่า Participle หรือ การนำคำกริยามาเติม -ing หรือ จะใช้กริยาที่ผันอยู่ในรูปช่องที่ 3 มาทำหน้าที่เป็นเสมือน Adjective โดยความต่างก็คือ “กรณีที่ประธานทำกริยาเอง เราจะใช้รูปกริยาลงท้ายด้วย –ing แต่หากคำนามนั้นถูกกระทำเราจะใช้รูปกริยาช่องที่ 3” จากประโยคข้างบน Walking อยู่ในรูป –ing เนื่องจาก “ทอม” ทำกริยาเดินเอง จึงไม่สามารถใช้รูปกริยาช่องที่ 3 ได้ (ไม่ได้ถูกทำให้เดิน) โดยประโยคนี้จะแปลว่า “ขณะที่เดินอยู่บนถนน ทอมได้ต่อยเพื่อนสนิทที่สุดของเขาไป” สังเกตนะครับว่าประโยคนี้มีส่วนขยายคำนามวางไว้อยู่ด้านหน้าของประโยค เราจึงต้องเติมคอมมาก่อนถึงประธานครับ

กฎข้อสุดท้าย คือ กรณีที่ส่วนขยายในประโยคสามารถละได้ เราจะนำคอมมา 2 ตัว ย้ำว่า 2 ตัว มาคั่นไว้ด้านหน้าและหลังของส่วนขยายตัวนั้น เพื่อสื่อให้เห็นว่าส่วนขยายตัวนี้ไม่จำเป็นต้องมี หรือไม่ต้องแปลก็ได้ เพราะต่อให้ส่วนขยายนี้หายไปเราก็ยังเข้าใจความหมายของประโยคหลักอยู่ดี (Nonessential)

  1. Snoopy, which is an iconic character of Peanuts, is very popular in Thailand.

ประโยคข้างบนนี้มีส่วนขยายที่เรียกว่า Adjective Clause ทำหน้าที่ขยายคำนาม Snoopy ที่อยู่ด้านหน้า หากเราลองเอามือปิดส่วนขยายนี้ไว้ ประโยคด้านบนก็ยังมีความหมายที่อ่านแล้วเข้าใจ นั่นคือ “สนูปปี้ได้รับความนิยมมากในประเทศไทย”  ดังนั้นส่วนขยาย which is an iconic character of Peanuts ที่แปลว่า “ซึ่งเป็นตัวละครที่โด่งดังจากการ์ตูน Peanuts”  จึงแค่ทำหน้าที่ให้รายละเอียดเพิ่มเติมของสนูปปี้ แต่ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เราเลยต้องใส่คอมมาด้านหน้าด้านหลังส่วนขยายนี้เพื่อบอกว่ามันละได้ หรือ ไม่จำเป็น (Nonessential) นั่นเอง

  1. Robert Downey Junior, an American actor in Iron Man, has received numerous nominations and awards for his portrayal of Tony Stark.

ในประโยคนี้ รอเบิรต์ ดาวนีย์ จูเนียร์ มีส่วนขยายที่เรียกว่า Appositive หรือ กลุ่มคำนามที่ทำหน้าที่ขยายคำนาม (ที่เรียกว่ากลุ่มคำนามเพราะเกิดจากการนำคำนามหลายตัวมารวมกันโดยไม่มีคำกริยาปรากฏในกลุ่ม) มาขยายว่า “เขาเป็นนักแสดงชาวอเมริกาที่รับบทในเรื่อง Iron Man” แม้จะไม่มีส่วนขยายนี้ประโยคหลักก็ยังมีความหมายสมบูรณ์ คือ  “รอเบิรต์ ดาวนีย์ จูเนียร์ได้รับการเสนอชื่อและได้รับรางวัลจำนวนมากจากบทบาทการแสดงเป็นโทนี่ สตาร์ค” เราจึงนำคอมมามาคั่นไว้รอบส่วนขยายนี้เพื่อบอกว่ามันไม่จำเป็น

**เคล็ดลับ จุดที่น้องต้องระวังของการใช้คอมมา (Comma Errors to avoid) คือ

  1. ห้ามนำคอมมามาใส่ระหว่างประธานกับคำกริยา (หากไม่มีส่วนขยายมาคั่น)

Nut , decided not to tell his girlfriend about the gossip he heard. ✖

Nut decided not to tell his girlfriend about the gossip he heard. ✓

  1. อย่าใช้คอมมาหน้าคำเชื่อม and หรือ or กรณีที่คำเชื่อมเหล่านี้ เชื่อมแค่ คำนาม 2 ตัว หรือ กริยา 2 ตัว

Nut, and his wife celebrated their wedding anniversary at Florida’s beach. ✖ (เชื่อมคำนามแค่สองตัว)

Nut and his wife celebrated their wedding anniversary at Florida’s beach. ✓

Nut’s wife heard the rumor, and decided to keep it as a secret. ✖ (เชื่อมคำกริยาแค่ 2 ตัว)

Nut’s wife heard the rumor and decided to keep it as a secret. ✓

หวังว่าต่อจากนี้ไปบทความนี้จะช่วยน้อง ๆ ให้สามารถใช้เครื่องหมายเล็ก ๆ ที่คนชอบมองข้ามและใช้กันผิดอย่างคอมมาในการเขียน Extended Response ของ GED RLA และการทำโจทย์ไวยากรณ์ได้ถูกต้องมากขึ้นนะครับ หมั่นทบทวนและฝึกทำโจทย์บ่อย ๆ นะครับ เพราะอย่าลืมว่า Practice makes perfect ครับ J

 

ติดต่อสอบถามคอร์สการเรียน GED ได้ที่เบอร์ 02-253-2533 หรือ 095-726-2666
หรือ LINE: @theplanner

เพิ่มเพื่อน

Leave a Reply