ในการติว GED สังคม หรือ Social Studies นั้นจะมีเรื่องที่ข้อสอบ GED จะถามค่อนข้างเยอะประมาณ 50% ของข้อสอบ นั่นคือในส่วนของ Civics and Government นอกเหนือจากโครงสร้างของรัฐบาล ประเด็นที่ชอบออกข้อสอบอีกอย่างหนึ่ง คือ เอกสารประวัติศาสตร์และกฎหมายต่าง ๆ (ซึ่งมักใช้ภาษา หรือ คำศัพท์ยาก ๆ) วันนี้ “Social วันละนิด พิชิตข้อสอบ GED” ก่อนที่เราจะเข้าสู่ตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญ (Constitution) ซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดของสหรัฐอเมริกา อยากให้น้อง ๆ ได้รู้จักกับ Preamble หรือ คำปรารภ (ถ้ายากไปจะแปลว่า “บทนำ”) ของกฎหมายรัฐธรรมนูญกันก่อน เนื่องจากคำปรารภนี้เองที่เป็นตัวเกริ่นและบอกวัตถุประสงค์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐ
ผู้ที่เป็นคนคิดประดิษฐ์คำปรารภของรัฐธรรมนูญสหรัฐ ก็คือ หนึ่งในบรรดาบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐ หรือ Founding Father ที่มีชื่อว่า Gouverneur Morris หรือ กูวีเนอร์ มอร์ริส ซึ่งร่างคำปรารภขึ้นในปี 1787 มีรายละเอียดดังนี้
“We the People of the United States, in Order to form a more perfect Union, establish Justice, insure domestic Tranquility, provide for the common defense, promote the general Welfare, and secure the Blessings of Liberty to ourselves and our Posterity, do ordain and establish this Constitution for the United States of America.”
แปลเป็นไทยว่า “พวกเราประชาชนแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ก่อตั้งชาติให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความยุติธรรม เพื่อความสงบสุขภายในประเทศ เพื่อการป้องกันประเทศร่วมกัน เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพโดยทั่วไป และเพื่อธำรงไว้ซึ่งเสรีภาพให้คนรุ่นเราและคนรุ่นหลัง ได้ทำการบัญญัติและสถาปนารัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาฉบับนี้ขึ้นมา”
สังเกตนะครับว่าคำศัพท์บางตัวในเวอร์ชันภาษาอังกฤษมีการใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ (Capitalization) ทั้งที่คำเหล่านี้ก็ไม่ได้ขึ้นต้นประโยคและบางคำก็ไม่ใช่ศัพท์เฉพาะ สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะผู้ประพันธ์คำต้องการเน้นย้ำคำศัพท์บางตัว เช่น We – People of the United State (พวกเราประชาชนแห่งสหรัฐอเมริกา)
ถ้าอย่างนั้นเราลองมาดูคำศัพท์ที่น่าสนใจในคำปรารภ ที่ควรจำกันดีกว่านะครับ เพราะศัพท์พวกนี้มีเปอร์เซ็นต์สูงครับที่เราจะเจอในเนื้อหาการเรียน GED Social และที่แน่นอนคือจะเจอแน่ๆในข้อสอบครับ โดยเริ่มจากคำว่า Justice (ความยุติธรรม), Tranquility (ความสงบสุข), Welfare (สวัสดิภาพ หรือ ความปลอดภัย), Liberty (เสรีภาพ) และ Posterity (อนุชน หรือ ลูกหลาน) อ๊ะ ๆ อย่าสับสันกับคำว่า “Prosperity” นะครับ คำนี้แปลว่า “ความเจริญ” สะกดไม่เหมือนกันนะ
ครั้งหน้าเราจะมาดูและเรียน GED Social พร้อมๆกันต่อ ในประเด็นกฎหมายรัฐธรรมนูญกันว่ารัฐธรรมนูญหน้าตาเป็นอย่างไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง รวมทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งต่าง ๆ สำหรับวันนี้ก็ท่องศัพท์ในบทความ GED Social ข้างบนให้แม่นนะครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความสอน GED Social Studies เรื่องต่อไปครับ