Hello everyone!!! วันนี้เรากลับมาพบกันกับเนื้อหาวิชาการเรียน GED RLA หรือ Reasoning through Language Arts (วิชาที่เด็กส่วนใหญ่โอดครวญว่ายากที่สุด) ซึ่งสิ่งที่อยากจะมาแชร์ในวันนี้เรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของภาษาเลยก็ว่าได้ ฮั่นแน่พอจะเดาหัวข้อกันออกหรือเปล่าเอ่ย … และหัวข้อนั้นก็คือ Finite Verb (กริยาแท้) ครับ หากเรากำลังติวสอบ GED RLA กันอยู่ เราต้องแบ่งแยกให้ออกว่ากริยานั้นคืออะไรและใช้อย่างไร เพราะในข้อสอบ GED RLA นั้นเราต้องตอบคำถามให้ได้จึงจะสอบผ่านกันนะครับ ทีนี้ว่าแต่ทำไมมันถึงสำคัญล่ะ?
นั่นก็เพราะทุกประโยคจะสมบูรณ์ได้จะต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานเป็น Finite Verb ครับ ถ้านึกไม่ออกลองนึกถึงประโยคคำสั่งที่เคยได้ยินในชีวิตน้อง ๆ อย่าง Get off (ออกไป!), Be quiet (เงียบ) หรือแม้แต่ Shut up (หุบ…ขอไม่แปลละกันเอาเป็นว่าละไว้ในฐานที่เข้าใจ) สังเกตนะครับว่าประโยคข้างบนนี้ไม่มีสิ่งที่เราเรียกว่า “ประธาน” ปรากฏจะมีก็แค่คำกริยา ดังนั้นอย่างที่พี่บอกเลยใช่ไหมล่ะ ว่ากริยานี่แหละถือว่าสำคัญที่สุดในประโยค
ทีนี้เราก็มาดูกันต่อว่า “กริยาแท้” มันคืออะไร และมันมี “กริยาไม่แท้” ด้วยเหรอ อันที่จริงแล้ว ไม่ใช่ในการเรียน GED RLA เท่านั้นแต่ในภาษาอังกฤษพื้นฐานนั้น เราแบ่งกริยาหลัก ๆ เป็น Finite Verb และ Non-finite Verb (กริยาไม่แท้) แต่ในวันนี้เราจะมาคุยกันเฉพาะส่วนที่เป็น Finite Verb ก่อนนะครับ
คำว่า Finite Verb ถ้าดูตาม Definition หรือ คำนิยามที่ให้ไว้ใน Cambridge Dictionary จะหมายความว่า “Finite verb forms show tense, person and number” เป็นคำกริยาในรูปที่แสดงให้เห็นถึงกาลเวลา ประธาน และพจน์(จำนวน) หรือถ้าเอาบ้าน ๆ แบบที่เราท่องกันมาตั้งแต่เด็กคือ “กริยาที่ผันตาม Subject (ประธาน) และ Tense (ช่วงเวลาที่การกระทำเกิดขึ้น)”
ตัวอย่างเช่น
She always tiptoes round the house after she comes back from the late party.
We ask a mechanic to repair our car before it is sent to the nearest garage.
Wichai finally decided to propose his girlfriend after six years of dating.
สังเกตหรือเปล่าครับเด็ก ๆ ว่ากริยาของสองประโยคนี้แรกถึงจะอยู่ใน Tense เดียวกันนั่นคือ Present Simple แต่ทั้งคู่ผันต่างกัน ขณะที่ She ซึ่งเป็นประธานคนเดียว(เอกพจน์) กริยาจะเติมท้ายด้วย “s” เสมอ We ซึ่งมีหลายคน(พหูพจน์) ข้างหลังกริยา ไม่ต้องเติม s และจุดนี้แหละที่เป็นตัวที่เด็กไทยหลายคนพลาด เพราะในภาษาไทยไม่ว่าประธานจะมีกี่คนเราจะไม่เติมอะไรต่อหลังคำกริยา ดังนั้นน้อง ๆ เลยไม่เคยได้ยินคนพูดว่า “ฉันหิวส์” หรือ “เขาคิดส์แผนไปง้อแฟน” ในส่วนของประโยคสุดท้ายกริยาถูกผันให้เป็นอดีตโดยการเติม –ed เนื่องจากต้องการสื่อว่าเหตุการณ์ที่เขาตัดสินใจเกิดขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกันครับภาษาไทยไม่มีการผันคำกริยาด้วยวิธีการนี้ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่อะไรเพราะหลาย ๆ ครั้งที่เห็นงานเขียนของน้อง ๆ หลายคนชอบลืมผันคำกริยาให้ถูกต้องตาม Subject กับ Tense เลยอยากจะเตือนพวกเราว่า ถึงจะเป็นการผิดเล็ก ๆ แต่ถ้ารวม ๆ กันหลายครั้งมันก็ทำให้เราเสียคะแนนสอบ GED RLA ได้มากกว่าที่คิดนะครับ (เตือนแล้วนะ!)
ดังนั้นพี่เลยอยากให้พวกเราค่อย ๆ ทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะติว GED เพราะใกล้สอบหรืออ่านเพื่อเป็นความรู้ ก็สามารถเปิดใจและเริ่มต้นสังเกตเพื่อเปลี่ยนตัวเองได้นะครับ เพราะสิ่งที่เรากำลังเขียนอยู่ คือภาษาอังกฤษ ซึ่งมีกฎเฉพาะตัว อย่าเอาอิทธิพลของภาษาไทยมาปน จำเอาไว้นะครับประโยคในภาษาอังกฤษจะสมบูรณ์อย่างน้อยต้องมีกริยาแท้ที่ผันตามประธานและกาลเวลา การศึกษาภาษาอังกฤษ หรือการติว GED RLA เพื่อสอบไม่ยากเกินไปใช่ไหมครับ แล้วเดี๋ยวครั้งหน้าเราจะมาลงรายละเอียดกันครับว่าการผันกริยาตามประธานและกาลเวลาที่บอกไว้ข้างบนจะทำได้อย่างไร See you